โรคข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคอ้วนรวมทั้งผู้สูงอายุ ในรายที่เป็นมากอาจมีผลต่อการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด ทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันแย่ลง

โรคข้อเสื่อมคืออะไร

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่มีการสึกของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูก ของแต่ละข้อ ทำให้คุณสมบัติในการรองรับแรงกระแทกที่กดลงบนข้อเสียไป เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อสึกมากขึ้น เวลาเคลื่อนไหวกระดูกจะเสียดสีกัน ทำให้ข้อนั้นมีการอักเสบ ปวด บวม เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก โรคข้อเสื่อมมักพบได้บ่อยในข้อที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อม

1.อายุ กระดูกอ่อนของผู้สูงอายุจะแตกต่างจากผู้ที่อายุน้อย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมได้ง่าย

2.น้ำหนักตัว การที่น้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะข้อใหญ่ๆ ที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก

3.การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งคุกเข่าหรือนั่งพับเพียบ

4.โรคบางอย่างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

อาการของโรคข้อเสื่อม

อาการของโรคข้อเสื่อมมักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระยะเริ่มต้น มักมีอาการปวดข้อเมื่อใช้งานมาก อาจมีอาการข้อฝืดเกิดขึ้นภายหลังหยุดการเคลื่อนไหวข้อเป็นเวลานาน เมื่อมีการสึกหรอของกระดูกอ่อนมากขึ้น จะทำให้ปวดมากขึ้นเวลาใช้งานข้อ มีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหวข้อ อาจพบว่ามีการผิดรูปของข้อ องศาการเคลื่อนไหวข้อลดลง จนไม่สามารถใช้งานข้อได้ ซึ่งการ ถ่ายภาพรังสีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน

การรักษาโรคข้อเสื่อม

1.ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

2.การทำกายภาพบำบัด

การ ออกกำลังกายโดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง การใช้ความร้อน การบำบัดด้วยสปา การนวด การฝังเข็ม พบว่ามีส่วนช่วยคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้

3.การรักษาโดยการใช้ยา

ปัจจุบัน มียาที่รักษาโรคข้อเสื่อมหลายรูปแบบ ทั้งชนิดรับประทาน ใช้ทาภายนอกและยาฉีดเข้าข้อ พบว่าการใช้ Glucosamine Sulfate ปริมาณ 1,500มิลลิกรัมต่อวัน มีส่วนช่วยชะลอการทำลายของข้อ และทำให้เนื้อกระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น

4.การักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะนำมาใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ในรายที่ได้รับการรักษาข้างต้นดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล

การป้องกัน

1.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ
2.ลดการใช้งานเข่า เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ การวิ่ง หรือจ๊อกกิ้ง
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อ
4.หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม
5.ตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

0 comments: