คุณฝากแคลเซียมให้กับคลังกระดูกของคุณหรือยัง?

หลายๆ คนอาจจะรู้จักกับภาวะกระดูกพรุนว่า มักเกิดกับผู้สูงอายุที่เป็นสตรีสูงวัย แต่เหตุไฉนจึงต้องเกิดกับผู้หญิง และกระดูกมันจะพรุนได้อย่างไร แล้วมันหายไปไหน เรามีคำตอบให้กับคุณๆ ที่อยากรู้...


ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ ภาวะที่เนื้อกระดูกบางลง เนื่องจากมีการสร้างกระดูกน้อยกว่าการทำลายกระดูก จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย แม้ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุแค่เพียงเล็กน้อย เช่น การลื่นหกล้ม โดยบริเวณกระดูกที่ได้รับผลกระทบได้ง่าย คือ กระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกข้อมือ ข้อเข่า และผลที่ตามมาก็คือ ผู้สูงอายุเหล่านั้นอาจต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จนเกิดแผลกดทับตามมาและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด


พอมาถึงจุดนี้ หลายคนก็ยังอาจสงสัยอีกว่า ทำไมอยู่ดีๆ กระดูกจึงถูกทำลายได้ แท้จริงแล้ว สิ่งที่ถูกดึงออกไปจากเนื้อกระดูกก็คือ ธาตุแคลเซียม อันเป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อกระดูกที่แข็งแรงและยังจำเป็นต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นการรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอกับความต้องการต่อวันจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติตาม โดยปกตินั้นกระดูกของเราจะมีค่ามวลกระดูกสูงสุด (Peak Bone Mass) ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงอายุ 25-30 ปี และหลังจากอายุ 35-40 ปีเป็นต้นไป ระดับมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ประมาณ 0.5-1% ต่อปีทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่สำหรับในผู้หญิงนั้นจะมีปัจจัยในเรื่องของฮอร์โมนเพศที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงประมาณ 5 ปีก่อนหมดประจำเดือน ซึ่งระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงนั้นจะเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกประมาณ 3-5% ต่อปี ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมผู้สูงอายุที่เป็นสตรีจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมากที่สุด


การป้องกันภาวะกระดูกพรุนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งแร่ธาตุแคลเซียมถือว่าเป็นแร่ธาตุหลักที่ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกแต่ก็มิใช่ว่าคุณจะประโคมแคลเซียมเสริมหรือให้ผู้สูงอายุดื่มนมเป็นแกลลอนๆ ต่อวัน เพราะร่างกายมีขีดความสามารถในการรับแคลเซียมต่อวัน อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย เช่น มีโรคประจำตัว อาทิ โรคไตที่ไม่สามารถขับแคลเซียมส่วนเกินออก หรือบางรายมีปัญหาเรื่องกรดในกระเพาะอาหารน้อย การรับประทานแคลเซียมในรูปของเกลือคาร์บอเนต (Carbonate salt) อาจเกิดปัญหาเรื่องการดูดซึมและการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในกรณีนี้การรับประทานแคลเซียมในรูปเกลือซิเตรท (Citrate) หรือซิเตรทมาเลท (Citrate malate) น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า


นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของเนื้อกระดูก เช่น การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การขาดวิตามิน ดี จากแสงอาทิตย์ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมรวมไปถึงการดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของกรดฟอสฟอริก (Phosphoric) ที่ต้องอาศัยการดึงแคลเซียมในเนื้อกระดูกออกมาเพื่อสะเทินฤทธิ์ (Neutralize)ของฟอสฟอรัสส่วนเกิน เป็นต้น


ดังนั้น เราจึงอยากให้ท่านรับประทานแคลเซียมอย่างน้อย800มิลลิกรัม/วัน เสมือนเป็นการฝากแคลเซียมให้กับคลังกระดูกของคุณ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

0 comments: