ทุกอย่างที่ผู้ชายควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

http://www.vcharkarn.com/uploads/12/12326.jpg
ปัจจุบันจำนวนชายไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยจากสถิติตัวเลขของชายไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถือเป็นอันดับ 2รองจากโรคมะเร็งปอด มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มาตรวจรักษาพบว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม โดยที่ไม่มีอาการบ่งชี้ นับว่าเป็นภัยใกล้ตัวของท่านชายที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว โรคมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะต้น ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคนั่นเอง

ความสำคัญของต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธ์ของผู้ชาย โดยจะอยู่รอบท่อปัสสาวะทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ ต่อมลูกหมากจำเป็นต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากฮอร์โมนเพศชาย(Testosterone)ซึ่งสร้างมาจากส่วนอัณฑะ

สาเหตุ

1. อายุ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบมากในผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี

2. ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องชายเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น

3. อาหาร พบว่าอาหารที่มีไขมันสูงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนผู้ที่บริโภคผักและผลไม้จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาการ

ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยโรค เพราะอาการเหล่านี้อาจพบในผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน,ปัสสาวะไม่พุ่ง,เจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ,มีเลือดปนมากับน้ำปัสสาวะ และ ปวดกระดูก ปวดตามข้อ ปวดหลัง

การวินิจฉัย

1. การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก หากเป็นมะเร็งมักคลำได้ก้อนแข็ง

2. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งหรือที่เรียกว่า PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นสารที่ถูกผลิตจากต่อมลูกหมาก ในคนปกติค่า PSA อยู่ระหว่าง 0-4 ng/ml หากค่านี้เกิน 10 ng/ml โอกาสเกิดมะเร็งก็จะสูง

3. การตรวจอัลตราซาวน์ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก

4. การตรวจชิ้นเนื้อ เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัย จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก เพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่


การรักษา

1. การผ่าตัด เป็นวิธีการที่นิยมในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุไม่มากและมีสุขภาพแข็งแรง

2. การฉายแสง เหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคแทรกซ้อนซึ่งไม่เหมาะที่จะรักษาโดยการผ่าตัดหรือใช้ฮอร์โมน

3. การรักษาด้วยฮอร์โมน เหมาะสำหรับผู้ป่วยในระยะแพร่กระจาย หรือป้องกันการเป็นซ้ำหลังจากรับการรักษาแล้ว

การป้องกัน

-หมั่นตรวจสุขภาพต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี
-หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และพยายามรับประทานอาหารที่มีสาร Lycopene เช่น มะเขือเทศ ฟักทอง, แร่ธาตุซีลิเนี่ยม ช่วยลดระดับ PSA และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง, ชาเขียว ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง, สารสกัดจากผลทับทิม มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก และ วิตามิน อี ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก.

0 comments: