ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม..โรคแพนิค

คุณเคยอยู่ในลิฟต์ ขับรถอยู่ หรืออยู่ในที่จำกัด เกิดอาการใจสั่นผิดปกติ หรือมึนงง คล้ายจะเป็นลม อาการเป็นชั่วครู่ก็ดีขึ้น บางคนคิดว่าอาจจะเป็นสาเหตุจากอากาศไม่ดี หรือเครียดคิดมากไปเอง ต่อมาก็เกิดอาการแบบนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ พอไปพบแพทย์แน่นอนว่า แม้แพทย์ตรวจร่างกายและใช้เครื่องมือตรวจอย่างไรก็ไม่พบ ยิ่งนานวันเข้าความหวังที่จะพบโรคและหายจากโรคก็เลือนลาง อาจจะทำให้หมดหวังในการรักษาหรือเกิดโรคซึมเศร้าจนถึงขนาดฆ่าตัวตายได้

วันนี้เราจึงได้นัดพบ นพ.ชัยพร เรืองกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท พูดคุยเกี่ยวกับโรคที่น่าสนใจ เป็นภัยใกล้ตัว แต่คนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามหรือยังไม่รู้จัก คือ โรคแพนนิค คุณหมอแจ้งกับเราว่า ที่อยากให้ความรู้เรื่องโรคนี้ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็นกันมาก เป็นได้ทั้งชายและหญิง แต่จะพบในหญิงมากกว่า ซึ่งบางคนเป็นผู้ป่วยแล้วแต่ยังไม่รู้ตัว หรือหลายคนอาจจะยังไม่ทราบสาเหตุของอาการและการรักษาที่แท้จริง

โรคแพนิคคืออะไร

เป็นโรคที่ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายอย่าง เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเป็นๆ หายๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนผู้ป่วยไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข

อะไรเป็นสาเหตุของโรคแพนิค

แต่ก่อนเราเชื่อว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือโรคประสาท แต่ปัจจุบันเราพบว่าสาเหตุที่เป็น เนื่องจากมีสารสื่อในสมองผิดปกติโดยเฉพาะสารสื่อที่ชื่อSerotonin norepinephrine GABA และEndorphinซึ่งอาการแปรปรวนเนื่องจาก2สาเหตุใหญ่ๆคือ1.การนอนหลับสนิทไม่เพียงพอ2.ขาดการออกกำลังกาย

เกณฑ์การการวินิจฉัย และอาการของโรคแพนิค

  1. อาการต่างๆเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ

  2. ขณะที่เป็นจะต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 อย่าง ดังนี้

  3. ต้องมีอาการอย่างน้อย 4 ครั้ง หรือถ้าน้อยกว่าจะต้องมีความรู้สึกกังวลหรือกลัวว่าจะเป็นๆ เป็นเดือน

  • ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

  • เหงื่อแตก

  • ตัวสั่น

  • รู้สึกหายใจไม่อิ่มหรือไม่ออก

  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก,คลื่นไส้ มวนในท้อง

  • มึนงง โคลงเคลง วูบ คล้ายจะเป็นลม

  • มีความรู้สึกกึ่งฝันและรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป

  • กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวจะเป็นบ้า

  • กลัวจะตายในขณะนั้น

  • ชาตามตัว แขนขาหรือเสียว

  • หนาวหรือสั่น หรือสะบัดร้อนหรือหนาว

  1. อาการต่างๆจะต้องเกิดขึ้นจนเต็มที่ภายใน 10 นาที แล้วค่อยดีขึ้นมาเอง


ทำไมถึงเกิดอาการแพนิค

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าระบบประสาทของคนเราประกอบด้วยสององค์ประกอบใหญ่ๆ ส่วนแรกเราเรียกว่าประสาทส่วนที่อยู่ในความควบคุมของจิตใจว่าจะพูด ยืน เดิน หยิบจับอะไรอย่างไร และอีกส่วนหนี่งเราเรียกว่าระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่สามารถหรือจำเป็นต้องไปสั่งงานว่า ประเดี๋ยวฉันจะนอนปอดอย่าลืมหายใจนะ หัวใจอย่าลืมเต้นนะ ออกกำลังกายแล้วร้อนช่วยระบายเหงื่อหน่อย เป็นต้น ระบบต่างๆเหล่านี้จะทำงานด้วยตัวเองอย่างเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ ซึ่งการนี้ต้องมีปริมาณสารสื่อในสมองที่เหมาะสมเป็นตัวควบคุม การแปรปรวนของสารสื่อทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อยู่เฉยๆไม่ได้ออกกำลังกายก็มีการหายใจเร็วหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เป็นต้น

การรักษาผู้ป่วยโรคแพนิค
ยาที่ใช้รักษามี2กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.
ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ให้รีบกินแล้วอาการจะหายทันที เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายกังวล ยาประเภทนี้ ถ้ากินติดต่อกันนานๆ จะเกิดการติดยาและเลิกยาก

2. ยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น จะต้องกินต่อเนื่อง2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล สามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว เพราะยาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า แต่จะไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย
สำหรับการรักษาด้วยยา ในช่วงแรกๆ แพทย์จะให้ยาทั้ง2กลุ่ม คือ เนื่องจากยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ จึงต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็วควบคู่กันไปด้วย เมื่อยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้นได้ผล แพทย์จะลดการกินยาที่ออกฤทธิ์เร็วให้น้อยลง เมื่อผู้ป่วยหายสนิท คือ ไม่มีอาการเลย มักให้กินยาต่อไปอีก 8-12เดือน เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อหยุดยาไปแล้วสักพักต้องเริ่มต้นรักษาเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ได้ผลดี ควรมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย คือจะรักษาให้หายได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับการทานยา50%และอยู่ที่การปฎิบัติตัวของคนไข้50%ถึงจะทำให้คนไข้หายเป็นปกติได้ โดยให้ความรู้ และพฤติกรรมบำบัด เพื่อปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย ขณะเดียวกัน คนใกล้ชิด ผู้เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งทีมแพทย์พยาบาลควรเข้าใจและให้กำลังใจ อย่าคิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ ซึ่งยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจเขาอย่างมาก แล้วอาการแพนิคก็จะค่อยๆ ทุเลาลงจนหายในที่สุด


ข้อปฎิบัติหรือข้อหลีกเลี่ยงในการเกิดโรคแพนิค

  1. งดอาหารที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือยาแก้ปวดบางชนิด

  2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง

  3. พยายามนอนหลับพักผ่อนให้สนิท อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง

  4. ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคแพนนิคก็ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์ตามกำหนดนัดหมายทุกครั้ง


สุดท้ายนี้คุณหมอฝากกำชับว่า ร่างกายของเราเปรียบเสมือนกับรถยนตร์ ถ้ารถที่ไม่ได้ใช้งานจอดทิ้งไว้ก็จะหมดสภาพ ส่วนรถยนตร์ใช้งานหนักๆก็จะเสื่อมสภาพ ดังนั้น รถที่ไม่ได้ใช้งานก็จะต้องนำมาขับใช้งาน ส่วนรถที่ใช้งานหนักหรือขับในทางไกลก็ควรพักเครื่อง หรือมีการเช็คระยะ เติมน้ำมันเครื่องดีดี เพื่อรถยนตร์จะได้คงสภาพได้นาน ก็เหมือนกับร่างกายของคนเรา ถ้าทำงานหนักก็จะต้องมีการดูแลสุขภาพดูเอง ทานอาหารให้ครบ พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าร่างกายไม่ได้ใช้งานก็จะทำให้ลีบใช้งานไม่ได้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เราจึงควรที่จะสร้างความสมดุลให้กับร่างกาย โดยปฎิบัติง่ายๆแค่ 2ข้อ คือการออกกำลังกาย และ การพักผ่อนให้เพียงพอ แค่นี้ก็จะได้ใช้ชีวิตที่ยาวนานและห่างไกลจากทุกโรคแล้วล่ะคะ

0 comments: