สุขภาพของชายสูงวัยและการรักษาด้วยฮอร์โมน



เพศ ชายในวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะพบว่าฮอร์โมนเพศชายซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ผลิตจากลูกอัณฑะ เริ่มปริมาณลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะลูกอัณฑะเริ่มเสื่อมหน้าที่ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศชาย การเสื่อมหน้าที่จะค่อยเป็นค่อยไปตามอายุที่มากขึ้น นอกจากลูกอัณฑะจะสร้างฮอร์โมนเพศชายแล้วยังมีต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมนเพศ ชายที่เรียกว่า ดีไฮโดรอิพิแอนโตรสเตอโรน (Dehydroepiandrosterone) เรียกย่อ ๆ ว่า ดีเอช อี เอ (DHEA) ซึ่งจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน

การที่ฮอร์โมนเพศชายลดลงช้า ๆ อาจทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ ดังนี้:

1) อาการทางระบบประสาทและจิตใจ: มีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ขาดความคิดริเริ่ม ขาดความเชื่อมั่นตนเอง นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบตามร่างกาย เหงื่อออกมาก อาการหงุดหงิด โมโหง่าย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งปัญหาครอบครัว หน้าที่การงาน

2) ระบบหัวใจและหลอดเลือด: ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด พบได้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะในชายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ เป็นเบาหวานอยู่แล้ว อ้วน ขาดการออกกำลังกาย ไขมันในเลือดสูง

3) ภาวะโรคกระดูกพรุน: จะรู้สึกว่าตนเองเตี้ยลง กระดูกหักบ่อย

4) ความผิดปกติทางการได้ยิน-สายตา: เช่น ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูได้ยินไม่ดี

5) ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะบ่อย ๆ ลำปัสสาวะเล็กลง ปัสสาวะเล็ดลาด ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น อาจมาจากสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก

6) หย่อนสมรรถภาพทางเพศ: พบว่าเกิดจากสาเหตุด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ หรือทั้งร่างกายและจิตใจร่วมกัน รู้ได้อย่างไรว่าฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง โดยการสอบถามอาการต่าง ๆ ตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดและการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่ละบุคคล

การรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง โดยการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน มีทั้งในรูปการรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง หรือฉีดยาเดือนละเข็ม หรือใช้ชนิดแปะผิวหนัง หรือทาผิวหนังก็ได้ การใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วนี้ ทำให้ชายสูงวัยหลายท่านร้องขอการรักษาโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ซึ่งมียาทั้งในรูปแบบยารับประทาน และยาฉีด รวมทั้งชนิดแปะที่ผิวหนัง ถึงแม้จะมีราคาแพงก็ตามแต่ดูว่ามีชายสูงอายุร้องขอให้แพทย์ทำการรักษาอยู่ บ่อยครั้ง

แพทย์ผู้ดูแลในเรื่องนี้จึงใคร่ขอเตือนว่า มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ นั้นอยู่ และข้อห้ามที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในชายสูงวัยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายสามารถกระตุ้นมะเร็งต่อมลูกหมากให้ลุกลามไปได้เร็ว ขึ้น อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่าเข้าใจผิด ส่วนในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากจากต่อมลูกหมากที่โตมาก ๆ ถือเป็นข้อควรระวังเท่านั้น เพราะในบางรายอาจจะกระตุ้นให้คนไข้ปัสสาวะไม่ออกได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมแพทย์ที่ดูแลท่านทำการตรวจทางทวารหนักและในบางรายอาจจะตรวจเช็คระดับพี เอสเอ (Prostate Specific Antigen) ของท่านด้วยก่อนเริ่มให้การรักษา ระหว่างการรักษาแพทย์ก็จะทำการตรวจเช็คระดับฮอร์โมนเพศชาย ความเข้มข้นของเลือด รวมทั้งพีเอสเอ เป็นระยะ ๆ เพื่อความปลอดภัย

ดัง นั้นท่านชายสูงวัยที่มีอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ควรจะได้รับการตรวจเช็คระดับฮอร์โมนเพศชาย รวมทั้งเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งสามารถทำการตรวจเช็คได้ในโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป ทั้งจากศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะและแพทย์ทั่วไปได้ ขอให้ชายสูงวัยทุกท่านมีสุขภาพที่ดี ทำประโยชน์กับสังคมของเราได้นานเท่านาน

ที่มา: บทความ น.พ. สุรพงศ์ อำพันวงษ์ โรงพยาบาลพยาไท

0 comments: