โรคหัวใจ

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญภายในร่างกาย มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย และเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงทนทานมากเพราะหัวใจเริ่มเต้นตั้งแต่เป็นตัว อ่อนในครรภ์มารดาและเต้นตลอดไปจวบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต คำว่า “โรคหัวใจ” เป็นคำที่กว้างมาก เนื่องจากหัวใจของเราประกอบไปด้วย เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ ดังนั้นโรคที่เกิดกับอวัยวะเหล่านี้จึงเรียกรวมว่าโรคหัวใจ ตัวอย่างโรคหัวใจสรุปคร่าวๆดังนี้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด:เป็นความผิดปกติของส่วนที่จะเจริญเติบโตมาเป็นหัวใจ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ บางครั้งตรวจพบได้แต่แรกคลอด แต่บางครั้งก็ไม่มีอาการจนกว่าอายุจะมากขึ้น ความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นกับทุกส่วนของหัวใจ ทำให้มีสภาพไม่สมบูรณ์เกิดความพิการ สาเหตุเชื่อว่าอาจเกิดการติดเชื้อไวรัสและการได้รับสารเคมี เช่น ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์อ่อนๆ

โรคลิ้นหัวใจ:ลิ้นหัวใจพิการอาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ ที่เกิดขึ้นภายหลังส่วนมากเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อคออักเสบหรือ ต่อมทอนซิลอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือที่เรียกว่าไข้รูมาติก เชื่อว่าร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านหัวใจตัวเองทำให้เกิดการอักเสบของ ลิ้นหัวใจและในที่สุดลิ้นหัวใจเกิดการพิการคือตีบและรั่ว ซึ่งเรียกโรคลิ้นหัวใจพิการนี้ว่า โรคหัวใจรูมาติก นอกจากนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อที่หัวใจโดยตรงหรือการเสื่อมของลิ้นหัวใจเอง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ:เป็นโรคที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะบีบหรือคลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือบางกว่าปกติ เป็นต้น ที่พบบ่อยได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจเสีย เชื่อว่าความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมาก ขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นและหัวใจโตขึ้น จนอาจทำให้เกิดหัวใจวาย ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยหอบง่ายเมื่อทำงานหนัก บวมบริเวณเท้า จนนอนราบไม่ได้ เป็นต้น

โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหัวใจขาดเลือด:หมายถึงโรคหัวใจที่เกิดจากการตีบและ แข็งของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือขาดเลือด ซึ่งอาจเกิดได้หลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยมักเกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตัน ในที่สุด

โรคเยื่อหุ้มหัวใจ:อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของเยื่อบุผนังด้านในของหัวใจจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย หรือเชื้อวัณโรค โรคนี้ส่วนใหญ่รักษาได้

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ:ปกติหัวใจ(ชีพจร)ของคนเราเต้นประมาณ72ครั้งต่อนาที จังหวะสม่ำเสมอ และแรงเท่ากันทุกครั้ง แต่ในผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจอาจมีชีพจรผิดปกติ เช่น เต้นช้าไป เร็วไป เต้นไม่สม่ำเสมอ หรือไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ หรือระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น มีจุดกำเนิดไฟฟ้าแปลกปลอมขึ้น หรือเกิดทางลัดในระบบ เป็นต้น

เนื่องจากโรคหัวใจเกิดจากหลายสาเหตุรวมถึงเกิดความผิดปกติกับส่วนใดของหัวใจ ความรุนแรง และวิธีรักษาโรคหัวใจจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งอาการเตือนสำคัญที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นแรง เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง ซึ่งมักเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้าย หน้ามืดเป็นลมไม่ทราบสาเหตุ หายใจลำบากในตอนดึกหลังเข้านอนแล้ว จนต้องลุกขึ้นมานั่ง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

อย่างไรก็ดีความอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคแทรกซ้อนได้หลายโรค รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มภาระให้กับหัวใจในการทำหน้าที่สูบฉีด เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น วิธีการสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจและการป้องกันโรคหัวใจที่ดีคือ การออกกำลังกายเป็นประจำแต่อย่าหักโหมและระวังอย่าให้อ้วนควบคุมน้ำหนักตัว ให้เหมาะสม

0 comments: