ลดความเสี่ยง ลดข้อเสื่อม

ขึ้นชื่อว่าข้อเสื่อม (Arthritis) หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่ด้วยความที่ว่ากว่าที่ข้อจะเสื่อมจนแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจนนั้นอาจใช้เวลานานหลายสิบปี ดังนั้นกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่บ่นเจ็บออดๆ แอดๆ จากอาการของข้อเสื่อมให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง


โรคข้อเสื่อมคืออะไร ? แท้จริงแล้วข้อเสื่อมเป็นโรคที่มีความผิดปกติของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อ (Cartilage matrix) และกระดูกบริเวณใกล้ข้อทั้งหลาย โดยปกติแล้วที่ปลายกระดูกแต่ละส่วนนั้นจะมีกระดูกอ่อนอยู่เพื่อช่วยป้องกันข้อเวลาที่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ภายในข้อก็จะมีน้ำไขข้อที่ช่วยให้ข้อสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนทั้งในด้านโครงสร้างหรือองค์ประกอบทางชีวเคมี จนทำให้หน้าที่ในการกระจายแรงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อเสียไป หรือเกิดแรงกดทับภายในข้อมากขึ้น จนทำให้ผิวกระดูกอ่อนมีลักษณะปริออกจากกัน ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการของข้ออักเสบเกิดขึ้น โดยมีอาการปวด บวมแดง ร้อนที่ข้อด้านใดด้านหนึ่งก่อน อาจมีเสียงจากการเสียดสีกันของผิวข้อที่ไม่เสมอกัน การเคลื่อนไหวของข้อมีลักษณะพับเป็นมุมได้น้อยลง เช่น ข้อเข่าไม่สามารถเหยียดตรงได้ ซึ่งแน่นอนว่าอาการเจ็บจะมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อนั้นๆ


พอมาถึงจุดนี้แล้ว ดูเหมือนว่าโรคข้อเสื่อมนั้นช่างกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณเหลือเกิน แม้ว่าปัจจัยของการเกิดข้อเสื่อมจะมาจากการเสื่อมสลายของข้อไปตามกาลเวลา แต่คุณสามารถดูแลข้อให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถใช้งานไปได้นานๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องยืนเป็นเวลานาน หรือแบกหามของหนัก แน่นอนว่าข้อบริเวณเข่าทั้งสองจะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักไว้ทั้งหมด ดังนั้นจำเป็นต้องผ่อนคลายอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายบ้าง นอกจากนี้วิถีการใช้ชีวิตประจำวันหลายอย่างก็อาจส่งผลต่อข้อของคุณได้ เช่น การนั่งยองเป็นเวลานานอาจมีผลเพิ่มแรงกดทับที่ข้อเข่าถึง 10เท่าของน้ำหนักตัว การใช้นิ้วและข้อมือถือของหนักเวลาไปจ่ายตลาด หรืออาชีพที่ต้องใช้ข้อมือข้อขากระแทกอยู่บ่อยครั้ง เช่น คนที่ทำงานขุดเจาะถนน นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของน้ำหนักตัวที่มากขึ้นซึ่งจะไปเพิ่มแรงกดทับให้กับข้อเป็นเงาตามตัวนั่นเอง

พอมาถึงประเด็นในเรื่องของการออกกำลังกาย หลายคนอาจสงสัยว่าควรออกกำลังกายหรือไม่กันแน่ ? คำตอบก็คือ ควรออกกำลังกายแต่ต้องเลือกชนิดกีฬาร่วมด้วยการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อของคุณแข็งแรงยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นการป้องกันแรงกดทับที่เกิดขึ้นโดยตรงบริเวณข้อ สำหรับการออกกำลังกายและการบริหารที่ลดการใช้งานข้อเข่า ได้แก่ การเกร็งกล้ามเนื้อรอบข้อซ้ำๆกัน การเคลื่อนไหวข้อในสระน้ำ การว่ายน้ำ การเดินก้าวยาวบนพื้นราบ การเต้นแอโรบิกในน้ำสำหรับการวิ่งจ๊อกกิ้งนั้นไม่แนะนำเนื่องจากข้อเข่าอาจต้องรับน้ำหนักมากถึง 10 เท่าของน้ำหนักตัว ควรเปลี่ยนเป็นการเดินหรือการปั่นจักรยานแทนจะดีกว่า ข้อเข่าจะลดการแบกรับน้ำหนักเหลือเพียง 4เท่าและ1.5เท่าตามลำดับ


สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของโภชนาการและสารอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคข้อ สำหรับอาหารโดยทั่วไปนั้นจะคล้ายกับการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักตัว โดยการจำกัดอาหารมันและหวานจัด เลือกรับประทานข้าวไม่ขัดสีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณวิตามิน บี และเส้นใยอาหารให้กับร่างกายนอกจากนี้อาจรับประทานสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของข้อต่อและกระดูกอ่อนที่มีชื่อว่าGlucosamine Sulfate ในปริมาณ1,500มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมีรายงานการใช้ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมว่า ช่วยชะลอการทำลายของข้อ และทำให้เนื้อกระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้นด้วย

0 comments: