มารู้จักอาหารกรด-อาหารด่างกันเถอะ

http://www.rakbankerd.com/kaset/Rice/359_1.jpg

อาหารทุกชนิดที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวันสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มตามคุณสมบัติทางเคมีของอาหารก็คือ อาหารที่มีความเป็นกรด(Acid-forming diets) และอาหารที่มีความเป็นด่าง(Alkaline or Base-forming diets) ถ้าจะถามว่า คุณคิดว่าน้ำมะนาวเป็นกรดหรือด่าง แน่นอนว่าแทบจะทุกคนอาจคิดว่า มะนาวมันเปรี้ยว ก็ต้องเป็นกรดอย่างแน่นอน คำตอบคือ ผิดครับ เพราะแท้จริงแล้ว การวัดความเป็นกรดเป็นด่างนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับรสชาดอาหาร ไม่อย่างนั้นอาหารที่มีรสจืดสนิทอย่างนมจืดก็ต้องถือว่าเป็นกลาง และนมเปรี้ยวก็ต้องเป็นกรด แล้วตกลงจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่ทานนั้นเป็นกรดหรือด่างกันแน่

เริ่มแรกขออธิบายถึงความเป็นกรดเป็นด่างอย่างง่ายๆกันเสียก่อน โดยความเป็นกรดเป็นด่างนั้นเรามักเรียกติดปากว่า “ค่า pH”ซึ่งย่อมาจาก “Power of Hydrogen” ซึ่งประจุของHydrogenนี้เองที่จะเป็นตัวกำหนดว่า อาหารนั้นมีความเป็นกรดหรือด่าง ถ้า pHเท่ากับ7จะถือว่าเป็นกลาง(Neutral)มากกว่า7ถือว่าเป็นด่าง(Alkaline)และน้อยกว่า7ถือว่าเป็นกรด(Acidic)โดยวิธีการตรวจสอบว่าอาหารชนิดไหนเป็นกรดหรือด่างนั้น เพียงนำอาหารมาเผาจนเป็นขี้เถ้า(Ash)แล้วนำขี้เถ้าเหล่านั้นไปละลายน้ำแล้วหาค่าpHการที่นำอาหารไปเผานั้นก็จะคล้ายกับกระบวนการเผาผลาญอาหารที่เกิดในร่างกายหลังจากที่รับประทานเข้าไป และขี้เถ้าจึงเสมือนเป็นของเหลือสุดท้ายหลังจากที่อาหารถูกย่อยสลายจนหมด แน่นอนว่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เกิดขึ้นนั้นย่อมจะส่งผลต่อร่างกายตามมาอย่างแน่นอน

อาหารที่มีรสเปรี้ยวอย่างน้ำมะนาวที่ยกตัวอย่างในตอนแรกและจัดอยู่ในกลุ่มของอาหารที่มีความเป็นด่างนั้น(Base-forming food)ข้อเสียที่เกิดขึ้นก็อาจมีเรื่องของความระคายเคืองที่เกิดกับกระเพาะอาหารโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคแผลในกระเพาะอาหารอยู่ก่อนแล้ว แต่หลังจากนั้นน้ำมะนาวที่มีส่วนประกอบของกรดซิตริกจะถูกกลไกทางชีวเคมีของร่างกายเปลี่ยนให้เป็นก๊าซแล้วขับออกทางลมหายใจ

แต่ในทางกลับกัน หากเป็นน้ำอัดลม ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของอาหารที่มีความเป็นกรด(Acidic-forming food) ข้อเสียต่อทางเดินอาหารก็คงจะคล้ายกับน้ำมะนาว ซึ่งสร้างความระคายเคืองให้กับกระเพาะอาหารได้ แต่สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ เครื่องดื่มเหล่านี้หากดื่มเป็นระยะเวลานาน ความเป็นกรดที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อความสมดุลของแร่ธาตุแคลเซียม(Calcium Balance) เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องสะเทินฤทธิ์ความเป็นกรดที่เกิดขึ้น โดยการดึงเอาแคลเซียมที่อยู่ในกระดูกและฟันออกมา(Bone Mineralization) เพื่อรักษาความเป็นกรด-ด่างของร่างกายให้มีpHประมาณ7.4และสิ่งที่ตามมานั้นจึงหนีไม่พ้นภาวะกระดูกพรุน(Osteoporosis) นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีข้อเสียอื่นๆที่เกิดจากการที่ร่างกายเป็นกรดเวลานาน อาทิเช่น การเหนี่ยวนำให้เกิดนิ่ว(Calcium kidney stones) ความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก หอบหืด และความดันโลหิตสูงเป็นต้น

ด้วยเหตุนี้การรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อร่างกายนั้น จึงควรเป็นอาหารในกลุ่มBase-forming food ได้แก่ น้ำผักผลไม้สด ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองและข้าวบาร์เล่ย์ สมุนไพรตระกูลโสม นมสดผลไม้ทุกชนิดยกเว้นพรุนและแอปพริคอท ผักทุกชนิดยกเว้น หน่อไม้ฝรั่งArtichoke, Watercress เป็นต้น และพวกเครื่องเทศชนิดต่างๆ เช่น พริกไทย ขิง อบเชย เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นAcidic-forming food อาทิเช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด ไขมัน แป้ง ชีส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำตาลขัดสี อาหารสำเร็จรูป และน้ำมันพืชที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีบีบเย็น(Cold Pressed) เป็นต้น

เมื่อคุณรู้ข้อดีข้อเสียของอาหารที่ว่านี้แล้ว สิ่งที่คุณควรจะทำต่อไปก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร โดยการเพิ่มสัดส่วนของอาหารที่ช่วยควบคุมสภาวะด่างของร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป รับรองว่าสิ่งที่คุณจะได้ตามมาก็คือความมีสุขภาพดีไปอีกนานแสนนานนั่นเอง

0 comments: