สเตมเซลล์-ความหวังใหม่ของการรักษาโรค

Stem Cell Therapy



http://doarai.com/wp-content/uploads/2008/10/mnewsimages_59863.jpg




ต้องยอมรับว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ชายพบมะเร็งปอดมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งตับ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เจริญอย่างรวดเร็ว ทั้งความรู้ใหม่และยารุ่นใหม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น รวมทั้งความรู้ในเรื่อง Stem cell ที่กำลังกลายเป็นความหวังใหม่ในการรักษาโรค


อย่างแรกขออธิบายก่อนว่าจริงๆ แล้ว Stem cell คืออะไร Stem cell ก็คือเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ต่างๆ ที่สำคัญของร่างกายได้ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ประสาท เป็นต้น ด้วยคุณสมบัตินี้จึงทำให้วงการแพทย์สนใจนำ Stem cell มาใช้เพื่อรักษาโรคต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เซลล์เกิดใหม่มากขึ้น


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและถือว่าเป็นความสำเร็จของวงการแพทย์ก็คือ การทำ Stem cell therapy ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemia) ที่มีสาเหตุมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Leukocyte ซึ่งสร้างจากไขกระดูกมีการเจริญเติบโตและทำงานผิดปกติ โดยปกติเซลล์เหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาจากไขกระดูกแล้วเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ แต่เซลล์เหล่านี้กลับไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ดังนั้นวิธีการรักษาก็คือ การให้เคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติเหล่านี้ก่อน จากนั้นจึงปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell transplant) หรือที่เรียกกันว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยการนำสเตมเซลล์ใหม่ใส่เข้าไปเพื่อให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้ตามปกติ ซึ่งสเตมเซลล์ที่ใช้ต้องทดสอบความเข้ากันได้กับเซลล์ผู้ป่วยก่อน นับว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย


ในการบริจาค Stem cell นั้นโอกาสที่ผู้รับจะสามารถนำสเตมเซลล์ไปใช้ได้จริงมีเพียง 1 ใน 50,000 เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (HLA Typing) ทั้งผู้ให้และผู้รับบริจาคจะตรงกันมีความเป็นไปได้น้อยมาก การขึ้นทะเบียนผลเนื้อเยื่อเอาไว้จึงเป็นการเก็บผลตัวอย่างเนื้อเยื่อไว้ในฐานข้อมูล ซึ่งอาจมีการติดต่อในภายหลังหากผู้ที่ต้องการ Stem cell มีผลเนื้อเยื่อตรงกัน


หากมีผู้ป่วย 1 ใน50,000สามารถใช้ Stem cell ของคุณได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเก็บ Stem cellก่อน ซึ่งการเก็บ Stem cell ในผู้ใหญ่มีด้วยกันสองวิธี คือ การเก็บโดยตรงจากไขกระดูกและการเก็บจากหลอดเลือด ซึ่งวิธีหลังอาจทำได้ง่ายกว่าและผู้บริจาคเจ็บตัวน้อยกว่าวิธีแรก โดยผู้บริจาคจะได้รับการฉีดยากระตุ้นเพื่อปลดปล่อย Stem cell ออกจากไขกระดูกมากขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเก็บโดยเครื่องที่จะคัดกรองเฉพาะ Stem cell เท่านั้น ขณะที่เลือดส่วนอื่นๆ จะกลับเข้าสู่ร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่ได้รับอันตรายใดๆ จากการบริจาค Stem cell เลย ขณะที่ Stem cell ของผู้บริจาคนั้นสามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ใหม่ภายใน 2-3สัปดาห์


สำหรับความสำเร็จของการใช้ Stem cell therapy ในปัจจุบันที่นอกเหนือจากการใช้รักษาความผิดปกติของโรคเลือด และโรคมะเร็งแล้ว ยังมีงานวิจัยในขั้น Preclinicในสัตว์ทดลองอีกหลายชิ้น ตัวอย่างเช่น การใช้ Stem cell เพื่อรักษาหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะของโรคตับแข็ง (Cirrhosis) การทดลองการซ่อมแซมเซลล์สมอง เซลล์ประสาทรับกลิ่นในหนู (Olfactory Glial Cell) และการเกิดแผลในไขสันหลัง (Spinal Cord Lesion) เป็นต้น ดังนั้นในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่า โรคต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งอาจจะเรียกว่าไม่มีโอกาสหายได้เลยนั้นก็อาจมีแนวทางการรักษาให้หายขาดได้ในที่สุด


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้เตือนว่า ในปัจจุบันการรักษาด้วยสเตมเซลล์ที่ได้รับการยอมรับมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้นเช่น มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งไขกระดูก เป็นต้น ส่วนการนำมารักษาโรคอวัยวะส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคไต หรือแม้กระทั่งการใช้สเตมเซลล์ในแง่ของการบำรุงผิวพรรณ (Anti-aging)ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น ดังนั้นผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจ


Reference

1. Phenotypic Characterization of Mesenchymal Stem Cell, Biomedical Application of Proteomics


2. Stem cell in the spotlight, The University of Utah, Genetic Science Learning Center


3. คู่มือการบริจาคโลหิตและเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

0 comments: