การนอนกรน

โรคนอนกรนเป็นภัยร้ายแรงอีกภัยหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคอ้วน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นเองและคนรอบข้าง ถ้าเกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพหลายด้านตามมา

การนอนกรนเกิดจาก

โดยปกติเวลาที่เราหายใจ ลมหายใจจะวิ่งผ่านจมูก เข้าสู่ช่องจมูก ลำคอ กล่องเสียงและเข้าสู่ปอด หากลมหายใจวิ่งได้ตามทางเดินปกติก็จะไม่มีเสียงใดๆ เกิดขึ้น แต่หากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจไม่ว่าระดับใดก็ตาม ทำให้ลมที่วิ่งไปตามทางเดินปกติมีไม่มากพอ ร่างกายจะตอบสนองด้วยการอ้าปากหายใจร่วมด้วย เมื่อลมวิ่งเข้าไป 2ทาง ทั้งทางปากและทางจมูกก็จะไปปะทะกันบริเวณลำคอ เกิดเป็นลมหมุน ทำให้ผนังลำคอ ลิ้นไก่และเพดานอ่อนสั่น เกิดเป็นเสียงกรนขึ้นมา

สาเหตุของการนอนกรน

1.อายุ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ ขาดความตึงตัว ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกลงไปทางเดินหายใจได้ง่าย

2.เพศ ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยจะเป็นเพศชาย เชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ทำให้โครงสร้างบริเวณศีรษะและลำคอ หนาตัวขึ้นทำให้มีช่องคอแคบกว่าเพศหญิง

3.กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนปกติ 1.5 เท่า

4.โรคอ้วน ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่มีค่า BMI > 28 kg/m2มักเป็นโรคนอนกรน เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันกระจายอยู่รอบๆ ทางเดินหายใจทำให้ช่องคอแคบลง ขณะเดียวกันหน้าท้องที่มีไขมันทำให้กระบังลมทำงานไม่เต็มที่

5.ลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะและกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก หน้าแบน คอยาว ล้วนทำให้ทางเดินหายใจช่วงบนแคบลง

6.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาบางชนิด ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ง่าย

7.การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของทางเดินหายใจแย่ลง

8.โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ ไซนัส ทำให้ทางเดินหายใจไม่สะดวก

9.การนอนหงาย ขณะนอนหลับเกิดการอ้าปากทำให้ลมผ่านได้มากขึ้น

ผลเสียของการนอนกรน

หากระบบทางเดินหายใจมีการอุดกั้นเกิดขึ้นเพียงบางส่วน ร่างกายยังได้รับอากาศอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่มีปัญหาต่อสุขภาพ แต่หากทางเดินหายใจอุดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอากาศจากทางปากและทางจมูกไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ เกิดภาวะที่เรียกว่า หยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) เมื่อหยุดหายใจ ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายก็จะมีกลไกป้องกันตัวเองไม่ให้ออกซิเจนต่ำมากไปกว่า นี้ โดยการปลุกให้ตัวเองตื่นและกลับมาหายใจใหม่ การถูกปลุกให้ตื่นด้วยตนเองนี้ นำไปสู่การนอนที่ไม่มีคุณภาพ และหากนอนกรนเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายลดน้อยลงนั่นเอง ในปัจจุบันมีโปรแกรมตรวจการนอนหลับ(Sleep Test)เพื่อวัดคุณภาพการนอนและการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายขณะนอนหลับ ซึ่งจะทำให้แพทย์วินิจฉัยง่ายขึ้น

ข้อแนะนำ

1.หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ควรเปลี่ยนท่านอนเป็นท่านอนตะแคงหรือนอนคว่ำ
2.นอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้นเพื่อให้การหายใจสะดวกขึ้น
3.นอนในห้องนอนที่สะอาด ปราศจากฝุ่นละออง เพื่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยที่สุด
4.ดื่มนมอุ่น 1 แก้วก่อนนอน แทนการใช้ยานอนหลับหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5.ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ระดับมาตรฐาน
6.พบแพทย์เพื่อตรวจหาตำแหน่งการอุดกั้นทางเดินหายใจ

0 comments: