การตรวจระบบทางเดินอาหาร

http://blog.spu.ac.th/home/blog_data/664/664/images/z3.jpg
โดยปกติแล้วทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อประเมินสุขภาพตนเองว่าร่างกายมีสิ่งผิดปกติอะไรบ้าง เพื่อที่จะแก้ไขและได้รับการรักษาได้ทันท่วงที รวมทั้งเป็นการเตือนให้เราต้องใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โรคบางโรคเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติโดยการตรวจร่างกายภายนอก ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อช่วยค้นหาสิ่งผิดปกติที่อาจซ่อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะกับอวัยวะภายในร่างกายซึ่งรวมถึงอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร

การตรวจอุจจาระเป็นตัวอย่างหนึ่งของการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่ใช้ในการหาสาเหตุของโรคว่าเกิดจากจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดใด การตรวจเริ่มจากการสังเกตตั้งแต่ สี กลิ่น และลักษณะของอุจจาระว่าเป็นอย่างไร เช่น อุจจาระมีลักษณะแข็ง เหลวหรือน้ำ มีมูกหรือเลือดปนหรือไม่ หรือบางครั้งอาจพบชิ้นส่วนของพยาธิปนออกมา การตรวจอุจจาระยังสามารถบอกถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย เช่น การตรวจอุจจาระที่มีเลือดปนมา ซึ่งพบได้ในโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ ริดสีดวงทวาร เป็นต้น การตรวจไม่พบน้ำดีในอุจจาระซึ่งทำให้อุจจาระมีสีซีดช่วยบอกถึงการอุดตันของท่อน้ำดี เป็นต้น

การตรวจเลือดก็สามารถใช้เป็นตัวบอกสมรรถภาพของตับ ซึ่งนับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญมากในระบบทางเดินอาหาร โดยการตรวจวัดระดับเอนไซม์ในตับเอนไซม์ที่สำคัญได้แก่aminotransferaseและalkaline phosphatase (ALP) ซึ่งaminotransferaseมีอยู่2 ชนิดได้แก่aspartate aminotransferase มีชื่อย่อว่าAST หรือชื่อเดิมคือSGOT พบมากที่หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อและไต และalanine aminotransferase มีชื่อย่อว่าALT หรือชื่อเดิมคือSGPT พบมากที่ตับ การตรวจระดับเอนไซม์ดังกล่าวช่วยบอกภาวะการทำงานของตับและโรคบางชนิดได้เช่น โรคที่ตรวจพบว่า ALPสูง ได้แก่ ตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ นิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี เป็นต้น

การตรวจสารบางชนิดในเลือดเช่น บิลิรูบิน (bilirubin)ก็สามารถช่วยให้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคของตับ เช่น ภาวะที่มีอาการคั่งค้างของบิลิรูบินเกินปกติในเลือดทำให้สารนี้ไปย้อมจับที่ผิวหนัง เล็บ ตาขาวให้เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นที่มาของอาการดีซ่านหรือตาตัวเหลือง(jaundice)ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอุดกั้นของทางเดินน้ำดี ทำให้บิลลิรูบินผ่านลงมาตามทางเดินน้ำดีไม่สะดวก และเกิดการคั่งค้างภายในตับและเข้ามาในเลือด ทำให้มีอาการตาตัวเหลือง

นอกจากนี้การตรวจทางรังสีซึ่งเรามักจะชินกับคำว่า เอกซเรย์ ก็สามารถนำมาใช้ตรวจระบบทางเดินอาหารได้ โดยการให้ดื่มสารทึบรังสีหรือที่เรามักจะได้ยินว่าให้กลืนแป้ง ซึ่งเป็นสารแบเรียมซัลเฟตร่วมกับภาพถ่ายเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันในการวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหารสามารถทำได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหารส่วนบน ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นด้วยการส่องกล้องที่เรียกว่าGastroscopeและทางเดินอาหารส่วนล่าง ตั้งแต่ปากทวารถึงลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่าColonoscopeซึ่งสามารถเห็นภาพผนังของอวัยวะดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ผ่านจอมอนิเตอร์และบันทึกภาพเก็บไว้ นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจได้อีกและยังใช้เป็นอุปกรณ์ในการรักษาซึ่งอดีตจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์Capsule Endoscopeถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ของการตรวจด้วยกล้องในระบบทางเดินอาหาร มีลักษณะเป็นแคปซูลขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยสามารถลงไปถึงลำไส้เล็กได้ลึกกว่าการใช้กล้องธรรมดาการตรวจความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องในทางเดินอาหารเป็นการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางและตรวจกับผู้ป่วยเฉพาะรายที่มีข้อบ่งชี้ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับคำอธิบายให้เข้าใจถึงเหตุผลการตรวจพร้อมขั้นตอนการตรวจ และต้องมีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ

0 comments: